วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

คอลัมน์ “ดร.ณัชร จัดหนังสือ” เล่มที่ 483 วันนี้ จะมาคุยถึงหนังสือชื่อ “ปรับสมองไม่ให้เสื่อม” ค่ะ


เราทุกคนล้วนอยากให้สมองสดใส พัฒนาไปได้เรื่อย ๆ จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
ทราบหรือไม่ว่าแม้จะเริ่มต้นที่วัย 50 ก็ยังไม่สาย?


=ภาพรวม=
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยแพทย์ญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญทางสมอง ผู้เขียนหนังสือที่มีการแปลเป็นภาษาไทยก่อนหน้านี้แล้วสองเล่ม คือ 66 วิธีลับคมสมองและ ยิ่งเรียนสูง เรียนเก่ง ยิ่งต้องปรับตัวที่ครูเคยรีวิวไปแล้วทั้งคู่ค่ะ
เล่มสามนี้เนื้อหาก็คล้าย ๆ กัน แต่ครูรู้สึกว่าภาษาอ่านง่ายกว่าค่ะ ในเล่มจะมีเช็คลิสต์ให้คุณตรวจสอบอยู่ 3 หมวดเพื่อทดสอบว่าสมองคุณเริ่มอ่อนแอลงหรือยัง
นอกจากนี้คุณหมอยังมีวิธีฝึกสมองเพื่อป้องกันสมองเสื่อมแบบง่าย ๆ มาแนะนำด้วยถึง 34 วิธี
ไม่ต้องรออายุ 50 ก็ฝึกได้นะคะ และข่าวดีคือ สมองมนุษย์สามารถพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ แม้จะอายุ 100 ปีค่ะ
คุณเลือกได้ ว่าจะใช้ชีวิตแบบมีสมองที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ หรือสมองที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ
***คำเตือน*** บทรีวิวเล่มนี้จะยาวและละเอียดหน่อยนะคะเพราะครูเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับทุกท่าน
คุณผู้อ่านสามารถค่อย ๆ ทยอยอ่านวันละนิดก็ได้ค่ะ
=น่าสนใจจากในเล่ม=
* หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้พักสมองส่วนที่ใช้บ่อยและหันมาใช้สมองส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้
* การใช้สมองบางส่วนจนล้าและตึงเครียด และการไม่ใช้สมองให้ทั่วทุกส่วนเป็นสาเหตุให้สมองเสื่อม
* คนอายุเกิน 40 ปี ส่วนมากจะรู้สึกว่า ทำงานก็ใช้สมองนะ แต่ทำไมความจำกลับแย่ลงทั้งนี้เพราะพวกเขาใช้สมองส่วนความคิดหนักเกินไป
* สาเหตุหนึ่งคือพวกเขาใช้สมองที่เฝ้าเกาะติดกระแสข้อมูลข่าวสารของโซเชียลมีเดียมากเกินไป
* สังคมดิจิทัลทำให้สมองบางส่วน ไม่ถูกใช้งานดังนั้นถ้าไม่พยายามปรับสภาพสมองด้วยตัวเอง ก็จะสมองเสื่อมได้ง่าย
* เพื่อให้สมองพัฒนาต่อไปได้แม้จะเลยวัย 40-50 ปีไปแล้ว เราต้องหมั่นสังเกตเอาใจใส่อยู่เสมอว่า เราใช้สมองไปเพื่ออะไรบ้างและใช้มันอย่างไร
* สิ่งที่เป็นตัวฉุดให้สมองเสื่อม คือ การใช้ชีวิตที่ทำแต่เรื่องเดิม ๆ จนชินชาไปเรื่อย ๆ
* สมองคนล้าจนเสื่อมลงทุก ๆ วันเนื่องจากเราใช้สมองซีกซ้ายหนักเกินไป จนสมองส่วน การมองเห็น” “ความเข้าใจและ การจดจำเสื่อมหนักมาก เราแก้ได้ด้วยการใช้สมองซีกขวาเพิ่มขึ้น
* ควรหัดใช้ดินสอเขียนแทนการพิมพ์คอมพ์ ควรฝึกคิดไปเขียนไป
* ควรอ่านหนังสือแทนการดูโทรทัศน์หรือคลิปวีดิโอ จะทำให้ได้ ใช้ความคิดแทนการเป็น ฝ่ายรับสาร
* วิธีพักสมองส่วนหนึ่งไปใช้อีกส่วนหนึ่งของคุณหมอคือ ลุกขึ้นยืนเมื่อความคิดตีบตัน และชมทิวทัศน์หรือภาพเขียนหลังไปพูดในงานสัมมนา
* เมื่อเข้าสู่วัย 40-50 ปี ร่างกายจะเริ่มสึกหรอ สิ่งที่เคยทำได้ง่าย ๆ อาจทำไม่ได้อีกต่อไป คนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะไม่มีอาการเหล่านี้ แต่คนทั่วไปที่ไม่ออกกำลังกายเลยจะรู้สึกถึงความชราง่ายกว่า สมองก็เช่นกัน
* แบบตรวจสอบ 15 ข้อว่าสมองคุณอ่อนแอหรือไม่ ถ้าตอบใช่เกินครึ่ง แสดงว่าสมองเริ่มอ่อนแอ
1. ใช้ชีวิตแต่ละวันเหมือน ๆ กัน
2. กลางคืนยังใช้ชีวิตเหมือนตอนกลางวัน
3. นอนน้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมง
4. หอบงานกลับมาทำที่บ้าน
5. ไม่ห่างจากคอมพิวเตอร์หรือมือถือแม้ในวันหยุด
6. ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมานานกว่า 1 ปี
7. ช่วงนี้ไม่ได้ไปภูเขาหรือทะเล
8. ใช้แต่มือข้างที่ถนัด
9. ไม่ได้พบปะคนหน้าใหม่เลยใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา
10. ไม่ได้เข้าสัมมนาหรืออบรมเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่
11. ไม่ได้แวะดูหรือซื้อเสื้อผ้าจากห้างเลย
12. ไม่ได้ร่วมทำงานอาสาสมัคร
13. ไม่ได้สวดมนต์
14. ไม่ได้หัวเราะดัง ๆ
15. ไม่ได้ออกไปดูดาวหรือพระจันทร์ยามค่ำคืนแม้อากาศดี
* เมื่อไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์แล้วไม่สบายใจ เป็นเพราะสมองส่วนการมองเห็น ความเข้าใจ และการจดจำอ่อนแอลง
* อาการ สมองอ่อนแอ6 อย่าง คือ
1. คุยกับคนต่างวัยไม่รู้เรื่อง
2. ลืมว่าจะลุกไปทำอะไร
3. คิดคำพูดขณะสนทนาไม่ออก
4. จัดการธุระหลายเรื่องพร้อมกันไม่ได้
5. ไม่กระปรี้กระเปร่าในตอนเช้า
6. โกรธง่าย
* เมื่ออายุมากขึ้น ขอบเขตการใช้ชีวิตก็จะแคบลง ความหมกมุ่นอยู่กับตัวเองก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการปิดกั้นตนเอง
* การ ลืมว่าจะลุกไปทำอะไรนั้นเป็นกันมาตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่สำหรับยุคนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการจดจำ เช่น สมาร์ตโฟน มากเกินไป
* เพราะถ้าเราเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยความจำภายนอก สมองก็จะตีความว่า ไม่จำเป็นต้องใช้สมองด้านการจดจำก็ได้สมองจึงไม่พยายามคิดให้ออกหรือปรับตัว
* คนยุคปัจจุบันจะใช้พื้นที่สมองหลายส่วนพร้อมกันได้ไม่ดีเพราะขาดการใช้มือขีด ๆ เขียน ๆ
* ถ้าเรามีเรื่องที่ไม่อยากทำ หรือเรื่องที่ทำไม่ได้ บางทีก็เป็นภาพสะท้อนจากสมองที่เหนื่อยล้า
* ช่วงที่มีเรื่องกลุ้มใจ คงยากที่จะตื่นรับวันใหม่อย่างสดใส เพราะขณะนอนหลับ สมองด้านความคิดไม่ได้หลับไปด้วย ยังคงทำงาน ถูกกระตุ้นอยู่ตลอดคืน จึงรู้สึกเหนื่อย
* ควรปรับสภาพสมองด้วยการหัวเราะกับตัวเองบ้าง การหัวเราะคือการปรับสภาพสมองที่ดีเยี่ยม
* ขณะที่เราโมโห สมองด้านความคิดจะใช้ออกซิเจนมากกว่าปกติ จึงทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คือ เกิดสภาวะที่อัตราส่วนออกซิเจนไม่สมดุล ส่งผลให้สมองทำงานไม่ปกติ
ดังนั้น ถ้าโกรธเมื่อให้ให้รู้ว่า สมองกำลังไม่ปกติ
* การหัวเราะเป็นการเติมออกวิเจนให้สมองส่วนความคิดอย่างพอดี ทำให้พร้อมสำหรับการคิดอย่างยืดหยุ่น
* การหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งที่ไม่ถนัด ทำให้สมองไม่พัฒนา การเรียนวิชาที่ไม่ถนัดเป็นการลับสมอง
* อายุ 50 ปี คือจุดเปลี่ยนของสมอง ช่วง 50 ปีแรกของชีวิต สมองเรียนรู้มาหลายเรื่อง ระหว่างนั้นจะเกิด ความเคยชินที่กลายเป็นลักษณะเฉพาะตัว ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนจากจุดนั้นจะไม่พัฒนาต่อ
* บางคนอาจคิดว่า หลังอายุ 50 สังขารย่อมโรยรานี่เป็นความคิดที่เกิดจากการที่เห็นว่าคนส่วนมากเป็นอย่างนั้นโดยไม่วิเคราะห์ ทั้งยังใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตและความเชื่อแบบเดิม ๆ โดยไม่คิดแก้ไขปรับปรุงอะไร
* สมองที่ไม่มีการเรียนรู้ ไม่ก้าวหน้า ไม่มีการรับรู้ที่หลากหลายในแต่ละวัน ซ้ำยังไม่มีความเพลิดเพลิน คือสมองที่อ่อนแอ
* การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ทุกวันสำคัญมากเมื่อสูงวัย ควรมีสมุดบันทึกไว้จด สิ่งใหม่ ๆ ที่ทำยิ่งอายุ 50 แล้วยิ่งควรเริ่มฝึก
* การเลือก ทำแต่เรื่องที่ทำได้ทำให้เสียโอกาสพัฒนาสมอง
* ภาพถ่ายสมองของคนที่มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น พบว่าสมองมีการใช้งานทั่วทุกส่วน
* ความรักผู้อื่นมาจากการใช้สมองซีกขวา คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมของการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นจากพฤติกรรมของจน จึงมีพฤติกรรมที่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ทำเพื่อความสุขของผู้อื่น
* แต่พอวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเข้ามา ทำให้มองหาความสะดวกสบายจนกลายเป็นใครพูดก่อนทำก่อนก็ได้เปรียบ
* ถ้าความคิดไม่แคร์ใครยังคงอยู่ต่อไป สมองซีกซ้ายที่ทำงานหนักและสมองซีกขวาที่ไม่ได้ใช้งานจะกลายเป็นรูปแบบมาตรฐานไป และจะกลายเป็นสมองล้าอ่อนแอในที่สุด
* ในสหรัฐอเมริกา โรคที่ใช้ค่ารักษาพยาบาลมากที่สุดคือโรคสมองเสื่อม รองลงมาคือโรคหัวใจและมะเร็งตามลำดับ
* ดังนั้น การเอาใจใส่พัฒนาสมองหลังอายุ 50 ปีอาจเป็นวาระส่วนบุคคลก็จริง แต่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการบริหารประเทศด้วย
* สมองเริ่มเสื่อมตั้งแต่วินาทีที่คิดว่า อยู่อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้วความเคยชินต่อสภาพแวดล้อมแม้จะทำให้เรารู้สึกมั่นคงและปลอดภัยก็ทำให้เราขาดความแปลกใหม่ด้วย
* เมื่อขาดความแปลกใหม่ สมองก็ขาดการตอบสนอง การอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมนาน ๆ สมองจะไม่ได้ใช้งานและเสื่อมลงเรื่อย ๆ
* วิธีป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อย่างดี คือ การตั้งเป้าหมายว่าจะมีชีวิตยืนยาวและแข็งแรงถึง 100 ปี
* ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีการเปรียบเทียบการทำงานของสมองคนที่มีอายุ 100 ปีและมีการศึกษา กับคนที่มีอายุ 100 ปีแต่ไม่มีการศึกษา พบว่าคนที่ไม่มีการศึกษามีอัตราการเป็นโรคสมองเสื่อมสูงกว่า
* ผู้ชายที่แต่งงานกับ ภรรยาคนเก่งมีแนวโน้มที่สมองจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็วถ้ามีภรรยาคอยจัดการให้ทุกอย่างมาตลอด
* จงใส่ใจการทำงานของสมอง ถ้าทำแต่กิจกรรมที่ใช้แต่ภาษา ก็ให้หันมาวาดภาพ ระบายสี หรือกิจกรรมที่ ไม่ใช้สมองซีกซ้ายดูบ้าง
* การจัดห้อง ทำความสะอาดบ้าน ก็เป็นการใช้สมองซีกขวา
* ผู้หญิงส่วนใหญ่เติมพลังให้สมองได้เก่งกว่าผู้ชาย
* การศรัทธาในศาสนาก็ดี และการใส่ใจแต่งตัวแต่งหน้าทำผมก็ดี เป็นการใช้สมองซีกขวา
* คนที่ไม่มีเวลาเดินทางท่องเที่ยว ถ้าได้เปลี่ยนสถานที่สักหน่อยก็ได้ผลดีเช่นกัน เช่น การใช้เส้นทางที่ไม่ได้ใช้ประจำ การเข้าร้านค้าที่ไม่เคยเข้า การพูดคุยกับพนักงานหรือลูกค้าคนอื่น ๆ ก็เป็นการเปิดรับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและเป็นการกระตุ้นสมองซีกขวา
* ศีลธรรมและมารยาท ช่วยพัฒนาสมองซีกขวา
* การใช้ร่างกายซีกไหนก็เป็นการกระตุ้นสมองอีกซีกหนึ่ง ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่ใช้สมองซีกซ้ายมากเกินไปก็ควรพยายามใช้ร่างกายซีกซ้ายเพื่อกระตุ้นสมองซีกขวาให้มากที่สุด
* คนเรามักไม่รู้จักตนเอง แต่ถ้าดูจากสมองก็จะรู้ว่าความเป็นตัวเราล้วนสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัว
* ดังนั้น ถ้าสั่งสมประสบการณ์ดี ๆ ไว้หลากหลายก็จะเป็น การปรับสภาพสมองให้สมองพัฒนาครบทุกด้าน
* เราสามารถออกแบบสมองด้วยตนเองได้ เริ่มจากตั้งเป้าว่าเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไร และตั้งสติทำเช่นนั้นทุก ๆ วันพร้อมจดบันทึกลงไปด้วย เช่น ตั้งเป้าว่าจะนั่งเก้าอี้ให้ลึกเพื่อให้หลังตรงตลอด
หรือ อาจกำหนด ช่วงเวลาช่วงนี้ของวันเพื่อเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต เช่น ออกกำลังกาย ฯลฯ
* การแก้ไขความเคยชินต้องใช้เวลา วิธีที่ได้ผลดีคือ ให้ค่อย ๆ เริ่มทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนไปทีละขั้นอย่างเพลิดเพลิน เพราะความรู้สึก สนุกทำให้สมองทำงานได้ดี
* การพบเจอคนดี คือการปรับสภาพสมองอย่างหนึ่ง คงไม่มีใครอยากบกับคนที่ทำให้รู้สึกแย่อีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังทำให้สมองเครียดและอ่อนแอ
* การสังเกตใบหน้าผู้คนตามที่สาธารณะและจินตนาการว่าเขาน่าจะมีอาชีพอะไรหรือกำลังรู้สึกอย่างไร เป็นการฝึกสมองซีกขวาอย่างหนึ่ง (ครูขอเสริมว่า ให้ส่งจิตแผ่เมตตาให้ผู้นั้นไปด้วยก็จะยิ่งดีค่ะ ครูทำบ่อยค่ะ)
* คนที่ใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ค่อยได้เห็นสัตว์หรือรูปภาพ หรือคนที่ชอบอยู่เฉย ๆ มากกว่าออกไปทำกิจกรรม มีโอกาสสูงที่สมองด้านการมองเห็นจะแย่ลง
* การไม่ได้ใช้สมองด้าน ความเข้าใจของสมองซีกขวา สังเกตได้จากการจัดเก็บข้าวของไม่เก่ง การตกแต่งห้องไม่สวย ใช้มีดเล่มเดียวทำอาหารไม่ได้ พูดตลกไม่เป็น หรือตามมุกตลกคนอื่นไม่ทัน
* ตัวอย่างเช็คลิสต์บางส่วนเพื่อการตรวจสอบมองใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าคุณเป็นเช่นนั้นแสดงว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังเสื่อมลง (ในเล่มมีทั้งหมด 21 ข้อค่ะ ครูคัดมาบางส่วน)
1. ไม่ได้เสียเหงื่อเลยใน 1 สัปดาห์
2. ไม่เปลี่ยนมือเวลาถือกระเป๋า
3. ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาให้ใคร
4. ไม่ได้จับดินสอหรือปากกาเขียนหนังสือเลย
5. ไม่ได้เล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวหรือเดินทางให้ใครฟัง
6. ไม่ได้ใช้เส้นทางใหม่ ๆ ไปทำงาน ไปเรียน หรือไปซื้อของ
7. ไม่ได้พูดคำว่า ขอบคุณ
8. คุยกับคนที่กำลังสูบบุหรี่
9. ไม่มีเรื่องที่รู้สึกว่า สนุกจัง
10. ไม่ได้ให้ของขวัญใคร
11. ไม่ได้คุยเรื่องทั่วไปกับคนที่อายุต่างกัน 20 ปี
* การออกกำลังกายเป็นการปรับสภาพสมองที่ทำได้ง่ายมาก
* วิธีกระตุ้นสมองด้านการมองเห็นอย่างเหมาะสมคือ การมองภาพที่ปรากฏอยู่จริงผ่านสายตาตนเอง ไม่ใช่มองผ่านจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ และหัดมองภาพตรงหน้าให้กว้าง ๆ
* สมองส่วนที่ไม่ได้ใช้จะ โง่ลงโดยเฉพาะสมองที่เอาแต่พึ่งพาหน่วยความจำภายนอกเช่น อินเทอร์เน็ท
* วิธีฝึกสมอง ภาคปฏิบัติ” (ในเล่มมีถึง 34 วิธีค่ะ)
1. สั่งอาหารจากภาพโดยไม่ดูตัวหนังสือ
2. ห้องที่จัดเป็นระเบียบสร้างสมาธิได้มากกว่า แม้แต่ไฟล์และโฟลเดอร์ในคอมพิวเตอร์ที่จัดเก็บไม่เป็นระเบียบจนดูรกก็หายากก็เป็นตัวสะท้อนสภาพในสมองของคุณ
3. ลองกำหนดหัวข้อสิ่งที่คุณจะมองหาขณะกำลังเดินทางไปทำงาน เช่น กระเป๋าน่ารัก ๆ ที่เด็กมัธยมถือ
4. อย่ายึดติดแบรนด์ตอนซื้อเสื้อผ้า ให้หัดเลือกให้เหมาะกับตนเองด้วยสายตาของตนเอง เช่น สีไหน ลายไหนเหมาะ
5. หัดมองฟ้าแล้วคาดเดาสภาพอากาศ
6. ให้นวดหนังศีรษะเผื่อให้สายตาผ่อนคลาย และยังช่วยคลายเครียดให้สมองด้วย
7. การสังเกตสัตว์เลี้ยงและต้นไม้ ช่วยกระตุ้นระบบการมองเห็น
8. ปรับปรุงบุคลิกให้ยืนนั่งหลังตรง จะช่วยสมองด้านความเข้าใจ
9. กินพออิ่ม 6 ใน 10 ส่วน สังเกตว่ากินอะไรแล้วง่วง กินอะไรแล้วสบายท้อง กินอะไรอยู่ท้อง กินอย่างไรจึงจะมีแรงและสดชื่น
10. แปรงฟันด้วยมือที่ไม่ถนัด และทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยมือที่ไม่ถนัดด้วย
11. การสวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นการปรับสภาพสมองที่ดีมาก
12. เขียนข้อดี 5 ข้อของคู่ชีวิต
13. เขียนบันทึกเรื่องดี ๆ ตอนที่นึกแล้วเขียนจะรู้สึกดี และยังช่วยการจดจำ ป้องกันอัลไซเมอร์ได้
14. ฟังเพลงเก่าสมัยหนุ่มสาวเป็นประจำ
15. คิดตารางเวลาแบบย้อนหลัง
16. หาเวลาอยู่คนเดียวโดยไม่ใช้สมาร์ทโฟนบ้าง ไม่เช่นนั้นสมองจะเสื่อม
17. ทิ้งของที่ไม่จำเป็นไปบ้าง การจัดระเบียบตู้เก็บของเป็นการจัดระเบียบความจำ
18. ยามท้อแท้ ผิดหวัง อ่อนล้า ลองกลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าของคุณ
19. กลับไปเยือนสถานที่เดิมที่เคยไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
* อย่าคิดว่า ถ้าอยู่ได้จนอายุ 80 ปีก็ดีถมไปแล้ว เวลาที่เหลือก็ใช้ให้หมด ๆ ไปเพราะจะเป็นการสะกดจิตตัวเอง ส่งผลให้ระยะเวลา 10 ปีก่อนจะถึงอายุ 80 ปีสมองจะเกิดเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
* อย่าเข้าใจผิดว่าสมองมีแต่จะเสื่อมลง เพราะในความเป็นจริงแล้วสมองสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ
=ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้==
* ในยุคนี้ สมองเสื่อมได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นคนทุกวัยควรตั้งใจฝึกสมอง ทันทีสำหรับครูเอง ได้ใช้มือซ้ายขีดไฮไลท์ตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่ม และพยายามใช้มือซ้ายมากขึ้นค่ะ
* การหมั่นฝึกใช้สติคอยสังเกต เอาใจใส่ในชีวิตประจำวัน เป็นวิธีพัฒนาสมองที่ทำได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา
* การหมั่นส่งความเมตตาปรารถนาดีให้ผู้อื่น ส่งผลดีต่อสมองทุกส่วนค่ะ
หนังสือชื่อ ปรับสมองไม่ให้เสื่อมโดย Kato Toshinori แปลโดย กิ่งดาว ไตรยสุนันท์ สำนักพิมพ์ Nanmeebooks Fan 220 หน้า ราคา 225 บาท มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำและเวบไซต์ร้านหนังสือทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น